หน้าแรก | ข่าวสาร
18 ธ.ค.66 : สถาบันพระปกเกล้า โดย หน่วยจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า จัดอบรม “หลักจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับงานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์”ให้กับนักวิชาการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องห้ากันยา ฝั่งห้องอบรมสถาบันพระปกเกล้า
กิจกรรมดังกล่าว ได้รับเกียรติจาก นายณัฐพงศ์ รอดมี ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนฯ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวเปิดการอบรม ความว่า “จริยธรรมการวิจัยในคน เป็นหลักการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมวิชาการ ทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรี สิทธิ และความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย ทั้งยังเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้กระบวนการวิจัย ตั้งแต่การออกแบบงานวิจัย การขอความยินยอมจากผู้เข้าร่วมการวิจัยได้ใช้สิทธิในการตัดสินใจอย่างอิสระ เช่นเดียวกับที่สถาบันพระปกเกล้า ต้องการจะส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยแก่คนไทย ตลอดจนการนำไปสู่ผลการศึกษาวิจัยมีความน่าเชื่อถือ ปราศจากอคติในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง และให้ผลการศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างด้วยหลักการกระจายอย่างเป็นธรรม เพื่อให้มาตรฐานงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าได้รับการยอมรับในระดับสากล
สถาบันพระปกเกล้า จึงได้มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และการพิจารณารับรองโครงการวิจัย กำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับหลักสากลและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งได้ระบุในระเบียบปฏิบัติงานการวิจัย ในเอกสารระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001: 2015 ให้โครงการวิจัยของสถาบันฯ ต้องนำเข้ากระบวนขอการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน ผ่านกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ดังนั้น บุคลากร ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการวิจัยของสถาบันฯ จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักจริยธรรมการวิจัยในคน และเข้าใจกระบวนการในการขอการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคน จากนั้น เป็นการบรรยาย หัวข้อ “หลักจริยธรรมการวิจัยในคนสำหรับงานวิจัยเชิงสังคมศาสตร์: ความสำคัญ ในกระบวนการขอความยินยอมโดยได้รับการบอกกล่าว” โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์สิวลี ศิริไล (ราชบัณฑิต)
ในช่วงบ่าย เป็นการอภิปราย หัวข้อ “การพิจารณาโครงการตามหลักจริยธรรมการวิจัยในคน สำหรับงานวิจัยเชิงคุณภาพและงานวิจัยเชิงปริมาณ” โดย ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และดร.เลิศพร อุดมพงษ์ นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการฯ รวมทั้งข้อสังเกตและคำแนะนำในการเขียนโครงการ
ช่วงท้ายของการอบรม เป็นการเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอการรับรองจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันพระปกเกล้า โดย ดร.ธตรฐ สนธิเณร ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนฯ