ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

เสวนาเนื่องในวาระการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล “การเพิ่มงบประมาณเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย” (Financing for Gender Justice in Thailand)


          12 มีนาคม 2567 :  สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนาภายใต้สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดเสวนาเนื่องในวาระการเฉลิมฉลองวันสตรีสากล “การเพิ่มงบประมาณเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย” ณ ห้องภูวนาถประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า และผ่านระบบออนไลน์ 

          พิธีเปิดการเสวนาได้รับเกียรติจาก ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร นายกสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ และคุณพลอยไพลิน ถิ่นกาญจน์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ดร.นิตยา โพธิ์นอก นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า 

จากนั้นเป็นสาระการเสวนา 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1: สุนทรพจน์หัวข้อ พัฒนาการนโยบายและการดำเนินทางงบประมาณเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเพศในระดับประเทศ ในประเด็น รัฐบาล สภา และผู้มีอำนาจตัดสินใจในการกำหนดนโยบาย มีความก้าวหน้าในการผลักดันเรื่องความเสมอภาคทางเพศอย่างไร และองค์กรของท่านมีการใช้นโยบายและงบประมาณที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender-responsive policy and budgeting-GRB) อย่างไร และองค์กรของท่านต้องการได้รับการสนับสนุนอย่างไรเพื่อบรรลุนโยบายดังกล่าว ดำเนินรายการโดย คุณเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา 

  • คุณซาราห์ บินเย๊าะ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีการดำเนินงานโดยทำคู่มือและลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนมีการติดตามการดำเนินงานด้วย เช่น สำนักงบประมาณได้มีการจัดทำคู่มือการจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศให้กับหน่วยงานต่าง ๆ สถาบันพระปกเกล้าดำเนินการอบรมเรื่อง GRB ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ที่ทุ่งสง นครศรีธรรมราช หรือที่กรับใหญ่ จังหวัดราชบุรี
  • คุณณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา จัดทำและติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณเป็นหัวใจอย่างหนึ่งของระบบราชการ เราต้องการจะดูว่าจริง ๆ แล้วการจัดสรรงบประมาณของประเทศเราเลือกปฏิบัติหรือไม่ แต่กระบวนการงบประมาณปัจจุบันอาจไม่สามารถวัดผลได้ชัดเจนว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ สิ่งที่จะทำต่อไปกระบวนการงบประมาณอาจต้องทำให้สามารถวัดผลได้ การพิจารณางบประมาณปี 2568 ที่จะเข้ามาเดือนพฤษภาคม หน่วยงานต่าง ๆ เสนอเข้ามาแล้วอาจไม่ทัน อาจพอทำได้ในส่วนของการสร้างความตระหนัก แต่เรามีตัวชี้วัดที่เป็นกรอบและอาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติม 

ช่วงที่ 2: แนวทางและนโยบายสากลในการส่งเสริมความยุติธรรมทางเพศสภาพ ในประเด็น การริเริ่มนโยบายหรือการเข้าแทรกแซงที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมความยุติธรรมทางเพศสภาพใดที่เป็นผลสำเร็จในประเทศของท่านบ้าง โปรดแบ่งปันประสบการณ์ดังกล่าวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย คุณภาริณ จารุทวี นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า 

  • Dr.Elisabeth Klatzer, Political economist and international expert on gender responsive budgeting, Austria กล่าวว่า ออสเตรียมีการกำหนดประเด็นความเท่าเทียมทางเพศไว้ในกฎหมายและการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น การมีสถานเลี้ยงเด็กในสถานที่ทำงาน การสร้างสวนในเมืองเวียนนาและใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองที่หญิงชายและเด็กมาใช้ได้ ออสเตรียมีการจัดทำงบประมาณในระดับชาติที่มีการสนับสนุนทักษะของผู้หญิงให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ในส่วนบทบาทรัฐสภาก็มีบทบาทสำคัญมาก โดยสำนักงานงบประมาณของรัฐสภาออสเตรียจะมีบทบาทวิเคราะห์งบประมาณขององค์กรอิสระ ส่งเสริมการวิเคราะห์ผลกระทบ และติดตามความรับผิดชอบ
  • Marion Boeker, Director of Consultancy on Human Rights and Gender Issues, Germany กล่าวว่า การขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางงบประมาณของเยอรมันค่อนข้างมีอุปสรรคในช่วงแรก แต่ต่อมาทางเยอรมันได้มีการดำเนินการมากขึ้น อย่างสมาคมกีฬาที่บางคนไปใช้ในสถานศึกษาของตัวเอง บางคนไปเล่นที่โรงเรียน ในแง่ความหลากหลายทางสังคมมีการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมและจัดประชุมเชิงปฏิบัติการว่ามีส่วนใดหายไปและยังมีความต้องการใดอีกบ้าง และยังมีตัวอย่างที่ดำเนินการเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีการรวบรวมข้อมูลแบบเต็มเวลาและไม่เต็มเวลาระหว่างหญิงและชาย และในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ รัฐสภาได้ขอให้หน่วยงานมีการออกแบบการวิเคราะห์ที่แสดงให้เห็นช่องว่างของค่าตอบแทนระหว่างหญิงชายอยู่
  • Claire Barbato, Senior Adviser in the Office for Women in our Prime Minister and Cabinet Department, Australia กล่าวว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำ GRB มาใช้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เราใช้กรอบของ OECD ในการทำ GRB เครื่องมือหลักคือ การประเมินผลกระทบทางเพศสภาพและการแถลงนโยบาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงความโปร่งใสของรัฐบาลว่าทำอะไรบ้างที่ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ สำหรับหน่วยงานที่ยังไม่มีความตระหนัก รัฐบาลก็มีการจัดอบรมเพื่อเพิ่มความตระหนักพร้อมกับการขับเคลื่อนอื่นไปด้วย และในวันสตรีสากล ออสเตรเลียจะมีการจัดงานเพื่อติดตามผลการประเมินผลกระทบทางเพศสภาพ แต่ละหน่วยงานได้มีการประเมินตามที่ได้ให้สัญญาไว้หรือไม่ มีช่องว่างค่าตอบแทนระหว่างเพศหรือไม่ 

ช่วงที่ 3: การจัดทำนโยบายและงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศสภาพในการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณของประเทศปี พ.ศ. 2568 ในประเด็น พรรคการเมือง หรือองค์กรของท่านมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนนโยบายและงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศสภาพในประเทศไทยที่เป็นรูปธรรม อย่างไร เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่องค์ผู้หญิงและกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ออกนโยบายคำนึงถึงมิติเพศสภาพในการจัดสรรงบประมาณ คืออะไร ดำเนินรายการโดย คุณอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ 

ผู้แทนพรรคการเมือง กล่าวถึง นโยบายที่คำนึงถึงมิติเพศสภาพของพรรค โดย

  • ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อมูลที่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ได้มีข้อมูลงบประมาณที่คำนึงถึงมิติทางเพศ ส่วนภาคเอกชนเราอาจจะต้องมีกฎหมายบังคับให้ดำเนินการที่เอื้อต่อการคำนึงถึงเพศสภาพ ข้อมูลเหล่านี้ควรอยู่ในรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
  • คุณพิมพ์กาญจน์ กีรติวราปกรณ์ จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่าประเทศไทยมีมายาคติว่าประเทศไทยเสมอภาค ทำให้ผู้หญิงต้องพบกับปัญหาความเท่าเทียมทั้งเรื่องสาธารณสุข การทำงาน พรรคก้าวไกลจึงกำลังผลักดันหลายเรื่อง เช่น การลาคลอดเพื่อให้มีช่วงเวลาพักผ่อน แก้กฎหมายแพ่งพาณิชย์เรื่องของการทารุณกรรม เป็นต้น
  • ดร.รัชดา ธนาดิเรก จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในสมัยที่พรรคเป็นผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ได้ขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าแต่ยังมีข้อจำกัดงบประมาณ ส่วนการทำหน้าที่ของสมาชิกพรรค มีการร่วมจัดทำกฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ เมื่อมีกฎหมายแล้วงบประมาณจะตามมา และพรรคมีหน้าที่เข้าไปติดตามตรวจสอบในชั้นงบประมาณต่อไป
  • ว่าที่ รตอ.หญิง อัยรดา บำรุงรักษ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า พรรคมีการจัดตั้งสถานียุติธรรม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเชิงกฎหมายเสริมสร้างความเท่าเทียม ในส่วนตัวเองเป็น ส.ส.เขตพระโขนงและขับเคลื่อนเรื่องศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีปัญหาทางงบประมาณและขาดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งเสริมการเติบโตของเด็กแต่ละช่วงวัย และหวังว่างบประมาณเรื่องนี้จะดีขึ้น
  • ดร.ยศยา ชิยาปภารักษ์ จากพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า พรรคมีการขอการสนับสนุนจากรัฐบาลแต่ก็พบปัญหาด้านงบประมาณเช่นกัน สิ่งที่ทำได้คือทำในส่วนเล็ก ๆ เช่น มีการสนับสนุนให้สตรีช่วยสตรี พรรคยังผลักดันนโยบายในการส่งเสริมสอนสามภาษาให้กับเด็ก และมีนโยบายอารยสถาปัตย์เพื่อช่วยคนทุกกลุ่ม
  • คุณเพ็ญภัค รัตนคำฟู นายกเทศมนตรีตำบลเกาะคา จ.ลำปาง กล่าวถึง การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (GRB) ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกาะคาส่งเสริม Sense of belonging ให้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติและมีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการ และส่งเสริมให้มีผู้หญิงเป็นผู้นำในกลุ่มต่าง ๆ สมาชิกสภาท้องถิ่นที่เกาะคาก็เช่นกัน ทำให้มีแนวโน้มที่ผู้หญิงจะเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้นเพราะเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิง
  • คุณสุนี ไชยรส ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย กล่าวถึงเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร ว่าวีมูฟทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่น พบว่าทุกช่วงวัยมีงบประมาณแต่เด็กเล็กยังใช้งบประมาณสงเคราะห์คนจน วีมูฟจึงเสนอเงินสงเคราะห์เด็กเล็กถ้วนหน้า และรัฐต้องสนับสนุนเงินเลี้ยงดู 2,000 บาทแก่เด็กเล็ก 0-6 ปี ที่ผ่านมาวีมูฟขับเคลื่อนและเด็กเล็กบางส่วนได้รับการสงเคราะห์คนละ 600 บาท แต่ยังเป็นเงินสงเคราะห์ไม่ใช่เงินสวัสดิการ จึงขอให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า
  • คุณเรืองรวี พิชัยกุล สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา กล่าวถึงเศรษฐศาสตร์ความเป็นมารดา ว่า เป็นเรื่องของคนทุกเพศเพราะยังหมายถึงผู้ชายหรือคนเพศอื่นที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรด้วย การเลี้ยงดูเด็กอายุ 0-6 ปี ใช้งบประมาณ 1.2 ล้านบาท การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งมีภาระมาก จึงมีแนวทางเสนอเพื่อช่วยลดภาระการเลี้ยงดู เช่น การลาคลอดขยายเป็น 180 วัน ผู้ชายสามารถลางานมาช่วยเลี้ยงดูบุตร เพิ่มศูนย์เลี้ยงดูเด็ก กองทุนสำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ลดภาษีให้กลุ่มคนตั้งครรภ์ ลดหย่อนภาษีหรือบริจาคสำหรับการตั้งศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น
  • คุณอุษา เลิศศรีสันทัด สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี กล่าวถึงการป้องกันแก้ไขความรุนแรงในครอบครัว ว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ การทำงานที่จะตอบสนองต่อปัญหานี้ต้องดูความต้องการของผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีและมีการไกล่เกลี่ย ทางสมาคมฯ ดำเนินการช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้าย เช่น พาไปโรงพยาบาล ประสานส่งต่อ ดูแล ฝึกอาชีพ 3 เดือน กรณีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 81,000 บาท ต่อคน แต่เรายังขาดการจัดการกับผู้ชายที่ใช้ความรุนแรง เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงตั้งแต่ในวัยเด็ก จัดสรรงบประมาณที่พอเพียงที่จะให้บริการทางสังคมเช่นนี้รองรับ มีกองทุนให้การช่วยเหลือทางกฎหมาย มีการฝึกอาชีพ วิเคราะห์เรื่องความรุนแรงในครอบครัวซึ่งกระทบต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ ฯลฯ 

หลังจากการเสวนาทั้งสามช่วงจบลง เป็นการสรุปและกล่าวปิดโดย ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า 

สรุปการเสวนาโดย ดร.นิตยา โพธิ์นอก
นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า

ติดตามรับชมการเสวนาย้อนหลังตามลิงค์ 

https://fb.watch/qLQtb1tgf4/

#สตรีสากล #สำนักวิจัยและพัฒนา #สถาบันพระปกเกล้า


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า