ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนา เรื่อง "เส้นทางมรดกทางวัฒนธรรมไทย สู่มรดกโลก"


11 มีนาคม 2567 คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาเรื่อง "เส้นทางมรดกทางวัฒนธรรมไทย สู่มรดกโลก" ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ โดยมี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนา โดย นางเทียบจุฑา ขาวขำ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ซึ่งมุ่งหวังให้มีการศึกษาแนวทางการปฏิรูปขั้นตอนและกลไกการเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และแนวทางการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกของไทย ให้มีความยั่งยืนและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ทุกภาคส่วน ตามนโยบายและยุทธศาสตร์ส่งเสริม Soft Power ของรัฐบาล เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน รวมทั้งมีชื่อเสียงในฐานะแหล่ง ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก อยู่เพียงจำนวน 7 แห่งเท่านั้น ซึ่งแบ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 4 แห่ง และแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จำนวน  3 แห่ง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้ว ประเทศไทยยังนับว่ามีจำนวนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น 

ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาศึกษา ร่วมกับส่วนราชการ และภาคเอกชนเพื่อดำเนินการต่อยอด พร้อมทั้งผลักดันให้สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี แหล่งวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งอนุสรณ์สถานและภูมิทัศน์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ศูนย์กลางแห่งล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีโอกาสนำเสนอให้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ควรได้รับการส่งเสริมและผลักดันเพิ่มเติมเช่น แหล่งพระธาตุพนม อาคารประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวเนื่อง จังหวัดนครพนม แหล่งสงขลาและ ชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา แหล่งพระราชวังจันทร์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัด พิษณุโลก และแหล่งพระธาตุภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร ดังนั้น คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร จึงเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้มีการต่อยอด พัฒนา สามารถสร้างคุณค่าต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในภาพรวม เพื่อเป็นแหล่ง ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป

ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ ถ่ายทอดเรื่องราวของวัฒนธรรมผ่าน การแสดงพิธีเปิดการสัมมนา (การแสดงศิลปะพื้นบ้านไทย การให้ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในหัวข้อ “กว่าจะเป็นมรดกโลก” โดย นายบวรเวท รุ่งรุจี นายกสมาคมอิโคโมสไทย (ICOMOSThai) / อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ,  การเสวนาวิชาการเรื่อง “เส้นทางมรดกทางวัฒนธรรมไทย สู่มรดกโลก: ถอดบทเรียนกรณีศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” โดย วิทยากรผู้อภิปราย ศาสตราจารย์นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  นายวสุ โปษยะนันทน์  สถาปนิกเชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม (บูรณปฏิสังขรณ์หรือสถาปัตยกรรมไทย) กรมศิลปากร  นายสิทธิชัย พูดดี หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ดำเนินรายการโดย นางสาวพิชามญชุ์ ชัยดรุณ นักเขียนและบรรณาธิการอิสระ อดีตรองบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทย  อีกทั้งได้รับฟังการ บรรยายพิเศษ เรื่อง “กระบวนการและขั้นตอนในการขอขึ้นทะเบียน เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม” โดยนายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร

ช่วงบ่าย เป็นการสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นผู้แทนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก จำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่

- กลุ่มที่ 1 แหล่งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี

- กลุ่มที่ 2 แหล่งวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

- กลุ่มที่ 3 แหล่งอนุสรณ์สถาน แหล่งและภูมิทัศน์วัฒนธรรมเชียงใหม่

- กลุ่มที่ 4 แหล่งพระธาตุพนม อาคารประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวเนื่อง

- กลุ่มที่ 5 แหล่งสงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา

- กลุ่มที่ 6 แหล่งพระราชวังจันทน์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

- กลุ่มที่ 7 แหล่งพระธาตุภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร

จากนั้นเปิดโอกาสให้นำเสนอแนวความคิดและแผนการขับเคลื่อนมรดกทางวัฒนธรรม ในแต่ละท้องถิ่นเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรม

ซึ่งการสัมมนาในวันนี้ ได้รับความสนใจจาก ผู้แทนจากคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ส่วนราชการ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วน ท้องถิ่น และผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาอย่างคับคั่ง 

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามถ่ายทอดสด งานสัมมนาดังกล่าวได้ทาง

Facebook Fanpage : สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า

Facebook Fanpage : สถาบันพระปกเกล้า

https://fb.watch/qK7JgbZiZr/?mibextid=Nif5oz

#สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา #สถาบันพระปกเกล้า


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า