พระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า

หน้าแรก | เกี่ยวกับสถาบัน

logo_kpi_web

พระราชบัญญัติ
สถาบันพระปกเกล้า
พ.ศ. 2541
___________________________ 
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

                         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยสถาบันพระปกเกล้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติสถาบัน พระปกเกล้า พ.ศ. 2541
*มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 
( *ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 เล่มที่ 115 ตอนที่ 57 ก )
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“การพัฒนาประชาธิปไตย” ให้หมายความรวมถึง การวิจัย การเก็บรวบรวมองค์ความรู้และ 
ประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุข ตลอดจนการส่งเสริม การเผยแพร่ การฝึกอบรมเพื่อให้ระบอบและวิถีชีวิต
ประชาธิปไตยเป็นปึกแผ่น และยั่งยืน
“สถาบัน”        หมายความว่า สถาบันพระปกเกล้า
“สภาสถาบัน” หมายความว่า สภาสถาบันพระปกเกล้า
“กองทุน”        หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาและเผยแพร่ ประชาธิปไตย
“กรรมการ”      หมายความว่า กรรมการสถาบันพระปกเกล้า
“เลขาธิการ”    หมายความว่า เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
“พนักงาน”      หมายความว่า พนักงานของสถาบันพระปกเกล้า
“ลูกจ้าง”         หมายความว่า ลูกจ้างของสถาบันพระปกเกล้า

มาตรา 4 ให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด 1
การจัดตั้ง วัตถุประสงค์ และอำนาจหน้าที่ของสถาบัน
______________________________

มาตรา 5 ให้จัดตั้งสถาบันขึ้น เรียกว่า “สถาบันพระปกเกล้า” และให้สถาบันนี้เป็น นิติบุคคลอยู่ในกำกับดูแลของ ประธานรัฐสภา กิจการของสถาบันไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่า ด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ เลขาธิการ รอง เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสถาบันต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

           สถาบันเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่าย รัฐสภา และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณและกฎหมายอื่น 

มาตรา 6 สถาบันมีวัตถุประสงค์ดังนี้


(1)  ศึกษาและวิเคราะห์ทางวิชาการต่างๆ เพื่อเป็นแนวทาง ในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่าง
เป็นระบบ
(2)  ประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ด้านนโยบายเพื่อการพัฒนา ประชาธิปไตย
(3)  วิจัยและสนับสนุนการวิจัยเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย
(4)  เผยแพร่และสนับสนุนการเผยแพร่ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(5)  จัดและสนับสนุนการศึกษาอบรมบุคลากรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเกี่ยวกับ
การเมือง การปกครอง และการเศรษฐกิจและสังคมในระบอบประชาธิปไตย
(6)  บริการข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความรู้และผลงานวิจัย และวิชาการทางการเมืองการปกครองใน 
ระบอบประชาธิปไตย
(7)  ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรในประเทศและต่างประเทศ ในกิจการเกี่ยวกับการพัฒนา
ประชาธิปไตย
(8)  ส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา
(9)   บริหารกองทุนตามพระราชบัญญัตินี้
(10) กระทำการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสถาบัน หรือตามที่สภาสถาบันกำหนด

มาตรา 7 ให้สถาบันมีอำนาจกระทำกิจการต่างๆ ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 
และอำนาจเช่นที่ว่านี้ให้รวมถึง

(1) ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่างๆ สร้าง ซื้อ ว่าจ้าง รับจ้าง จัดหาหรือ
ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งในและนอกราชอาณาจักร ตลอดจนทรัพย์สินที่มี 
ผู้อุทิศให้
*(2) ให้ประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ ประกาศนียบัตรชั้นสูง
กิตติมศักดิ์ สัมฤทธิบัตร และวุฒิบัตร ได้ดังนี้

(*มาตรา 7(2) ถูกยกเลิกและให้ใช้มาตรา 7(2) โดยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันพระปกเกล้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 (พระราชกิจจานุเบกษาเล่ม 117 ตอนที่ 111 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543) )

(ก) ประกาศนียบัตร ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมกลุ่มวิชาใดกลุ่มวิชาหนึ่ง
(ข) ประกาศนียบัตรชั้นสูง ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาอบรมกลุ่มวิชาใดกลุ่มวิชาหนึ่งที่ได้รับ
ปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งหรือเทียบเท่าแล้ว
(ค) ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ และประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ ออกให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ
และ คุณธรรมอันควรแก่การยกย่อง
(ง) สัมฤทธิบัตร ออกให้แก่ผู้ผ่านการอบรมและการทดสอบเฉพาะวิชา
(จ) วุฒิบัตร ออกให้แก่ผู้ผ่านการอบรมเฉพาะเรื่อง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับของสถาบัน

(3) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ 
ในกิจการ เกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย
(3 ทวิ) รับสถานศึกษาหรือหน่วยงานอื่นเข้าสมทบในสถาบัน และให้ประกาศนียบัตร ทั้งนี้ตามข้อบังคับของสถาบัน
(4) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย
(5) ว่าจ้างหรือมอบให้บุคคลใดประกอบกิจการส่วนใดส่วนหนึ่งของสถาบัน
(6) บริหารกองทุนตามกฎหมายและระเบียบซึ่งสภาสถาบันกำหนด
(7) ดำเนินกิจการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสถาบัน
ข้อบังคับตามวรรคหนึ่งเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด 2
สภาสถาบันและเลขาธิการ
______________________________

มาตรา 8 ให้มีสภาสถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วย

(1) ประธานรัฐสภาเป็นประธานสภาสถาบัน
(2) รองประธานรัฐสภาเป็นรองประธานสภาสถาบัน
(3) กรรมการสภาสถาบันโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภา
(4) กรรมการสภาสถาบันซึ่งเลือกจากประธานคณะกรรมาธิการ สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร
จำนวนสองคน และกรรมการสภาสถาบันซึ่งเลือกจากประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำ
วุฒิสภาจำนวนหนึ่งคน
(5) กรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสิบเอ็ดคนซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
แต่งตั้งโดยคำแนะนำของประธานสภาสถาบัน รองประธานสภาสถาบัน และกรรมการ 
สภาสถาบันตาม (3) และ (4)
(6) เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการสภาสถาบัน
หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการสภาสถาบันตาม (4) และคุณสมบัติของกรรมการสภาสถาบันตาม (5) ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน

มาตรา 8 ทวิ ในกรณีที่ตำแหน่งตามมาตรา 8 ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ และยังมิได้มีผู้ดำรงตำแหน่ง
ดังกล่าวแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาสถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งตาม
มาตร 8 ที่เหลือ อยู่ ในกรณีที่ตำแหน่งที่ว่างเป็นตำแหน่งตามมาตรา 8 (1) ให้ 
รองประธานสภาสถาบันทำหน้าที่ประธานสภาสถาบัน

 มาตรา 9 สภาสถาบันมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของสถาบัน และโดยเฉพาะให้มี
อำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการดำเนินงานของสถาบัน
(2) กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการบริหารเงินกองทุนและพิจารณาจัดสรรทุนสำหรับ
กิจกรรมต่างๆ ของสถาบัน
(3) อนุมัติแผนหลักและแผนการดำเนินงานของสถาบัน
(4) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดแบ่งส่วนงาน และการบริหารงานของสถาบัน
(5) ออกข้อบังคับและวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสถาบัน
(6) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายของสถาบัน
*(7) อนุมัติให้ประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ 
ประกาศนียบัตรชั้นสูงกิตติมศักดิ์ สัมฤทธิบัตร และวุฒิบัตรของสถาบัน

(*มาตรา 9(7) ถูกยกเลิกและเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่ง พรบ. สถาบันพระปกเกล้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 (พระราชกิจจานุเบกษาเล่ม 117 ตอนที่ 111 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543) )

(8) ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของสถาบันเกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง

อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลอื่น การบรรจุ 
การแต่งตั้ง การให้ได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้าง การออกจากงาน ระเบียบวินัย การลงโทษ
การร้องทุกข์ และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง
**(8 ทวิ) ออกข้อบังคับว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องแต่งกายของประธาน รองประธาน 
กรรมการสภาสถาบัน รวมทั้งบุคลากร และผู้ศึกษาอบรม เข็มวิทยฐานะ ตรา เครื่องหมาย หรือ 
สัญลักษณ์ของสถาบัน

(*มาตรา 9(8 ทวิ) ถูกเพิ่มเติมโดยมาตรา 8 แห่ง พรบ. สถาบันพระปกเกล้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 (พระราชกิจจานุเบกษาเล่ม 117 ตอนที่ 111 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543) )

ข้อบังคับดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(9) ออกข้อบังคับว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเลขาธิการ การปฏิบัติงานของ 
เลขาธิการ และการมอบให้ผู้อื่นรักษาการแทน หรือปฏิบัติการแทนเลขาธิการ
(10) แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการและรองเลขาธิการ

(11) ปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสภาสถาบันกรรมการ

มาตรา 10 ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรง
ตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้ง
ไว้แล้ว
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดำรง
ตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระ แต่ยังมิได้ทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจาก
ตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่แล้ว

มาตรา 11 นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 10 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่
ได้กระทำโดยประมาท หรือคามผิดลหุโทษ

มาตรา 12 การประชุมสภาสถาบันต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
จึงจะเป็นองค์ประชุม
            ในการประชุมสภาสถาบัน ถ้าประธานสภาสถาบันไม่มาหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รอง
ประธานสภาสถาบันเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานสภาสถาบัน และรองประธาน
สภาสถาบันไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการ
คนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

            การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการประชุมที่มิได้บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบัน

มาตรา 13 สภาสถาบันมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา 
หรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่สภาสถาบันมอบหมาย

การประชุมคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ ให้นำความในมาตรา 12 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 14 ให้ประธานสภาสถาบัน รองประธานสภาสถาบัน กรรมการสภาสถาบัน คณะกรรมการและคณะ
อนุกรรมการตามมาตรา 13 ได้รับเบี้ยประชุมและหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น
ตามระเบียบที่สภาสถาบันกำหนด

มาตรา 15 ให้สถาบันมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของสถาบัน และอาจมีรองเลขาธิการ
คนหนึ่งหรือหลายคนตามจำนวนที่สภาสถาบันกำหนด เพื่อทำหน้าที่ตามที่
เลขาธิการมอบหมาย
คุณสมบัติ วิธีการแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการและรองเลขาธิการ ให้เป็นไป
ตามข้อบังคับของสภาสถาบัน
เมื่อเลขาธิการพ้นจากตำแหน่งให้รองเลขาธิการพ้นจากตำแหน่งด้วย

มาตรา 16 ให้เลขาธิการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรง
ตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

มาตรา 17 ให้เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) บริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายของสภาสถาบัน
(2) บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสถาบันทุกตำแหน่ง
(3) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษ ทางวินัยพนักงานและ 
ลูกจ้าง ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่
สภาสถาบันกำหนด
(4) วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบัน โดยไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับ 
ระเบียบหรือมติของสภาสถาบัน
(5) เป็นผู้แทนสถาบันในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก และเพื่อการนี้ เลขาธิการ
จะมอบอำนาจให้พนักงานคนใดคนหนึ่งปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้อง
ไม่ขัดต่อระเบียบที่สภาสถาบันกำหนด

มาตรา 18 ให้สภาสถาบันเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนของเลขาธิการและรองเลขาธิการ

มาตรา 19 ให้มีคณะกรรมการบริหารสถาบันพระปกเกล้า ประกอบด้วย เลขาธิการเป็นประธานกรรมการและ กรรมการบริหารอื่นที่ สภาสถาบันแต่งตั้งตามที่เลขาธิการเสนอ จำนวนไม่น้อยกว่าสี่คน แต่ไม่เกินเจ็ดคน ให้คณะกรรมการSบริหารสถาบันพระปกเกล้ามีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสถาบันและโครงการต่างๆ ที่สภาสถาบันให้ความเห็นชอบ หรือมอบหมายกรรมการบริหารสถาบันพระปกเกล้า พ้นจากตำแหน่งเมื่อเลขาธิการพ้นจากตำแหน่งและให้นำความในมาตรา 16 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด 3
กองทุน
______________________________

มาตรา 20 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสถาบัน เรียกว่า “กองทุนเพื่อการพัฒนาและเผยแพร่ประชาธิปไตย” เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานของสถาบัน  ประกอบด้วย
                (1) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
                (2) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณแผ่นดิน
                (3) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ
                (4) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
                (5) ดอกผลหรือรายได้อื่น
                (6) เงินและทรัพย์สินอื่นที่ตกเป็นของกองทุน
                เงินทุนประเดิมตาม (1) และเงินอุดหนุนตาม (2) นั้น รัฐบาลถึงจัดสรรให้แก่สถาบันโดยตรงเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสถาบัน

มาตรา 21 รายได้ที่เกิดจากกองทุนตามมาตรา 20 และรายได้อื่น ของสถาบันให้นำส่งเข้ากองทุน โดยไม่ต้องส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วย เงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา 22 บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สถาบันได้มาโดยมีผู้อุทิศให้ หรือได้มาโดยการซื้อด้วยเงินรายได้ของสถาบัน หรือแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินของสถาบันให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบัน

มาตรา 23 ทรัพย์สินของสถาบันไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และบุคคลใดจะยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับสถาบันในเรื่องทรัพย์สินของสถาบันมิได้

หมวด 4
การบัญชีและการตรวจสอบ
______________________________

มาตรา 24 ให้สถาบันวางและถือไว้ซึ่งระบบการบัญชีที่เหมาะสมแก่กิจการแยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีรายการรับและจ่ายเงิน ทรัพย์สินและหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความจริงและตามที่ควร ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้นๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ
มาตรา 25 ให้สถาบันจัดทำงบดุล และบัญชีรับจ่าย ส่งผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณแผ่นดินทุกปี ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสถาบันทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อสภาสถาบันภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณแผ่นดินทุกปี

มาตรา 26 ให้สถาบันจัดทำรายงานประจำปีทุกๆ ปี เสนอต่อสภาสถาบันเพื่อเสนอประธานรัฐสภา โดยแสดงงบดุล และบัญชีรายจ่ายที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องพร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชีรวมทั้งแสดงผลงานของสถาบันในปีที่ล่วงมาด้วย ให้ประธานรัฐสภาเสนอรายงานประจำปีตามวรรคหนึ่งต่อรัฐสภาเพื่อทราบ

หมวด 5
การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
______________________________

มาตรา 27 ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสถาบันประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสี่คน ซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาสถาบัน ให้นำมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 28 ให้คณะกรรมกาติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสถาบัน มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
           (1) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงานของสถาบันและของเลขาธิการโดยรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสถาบันประกอบการประเมินผลงาน
           (2) รายงานผลการติดตาม และตรวจสอบผลงานของสถาบันและของเลขาธิการต่อประธานสภาสถาบันทุกหกเดือน
           (3) ประเมินผลงานของสถาบันทุกปีและจัดทำรายงานการประเมินผลงานเสนอต่อประธานสภาสถาบัน

*หมวด 5 ทวิ
บทกำหนดโทษ
______________________________

มาตรา 28 ทวิ ผู้ใดใช้เครื่องแบบเครื่องแต่งกายเข็มวิทยฐานะ ตรา เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของสถาบัน หรือสิ่งอื่นใดที่เลียนแบบสิ่งดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิที่จะใช้หรือแสดงด้วยประการใดๆ ว่าตนมีประกาศนียบัตร ประกาศนียบัตรชั้นสูง ประกาศนียบัตรกิตติมศักดิ์ สัมฤทธิบัตร หรือวุฒิบัตร หรือมีตำแหน่งใดในสถาบันโดยที่ตนไม่มีสิทธิ ถ้าได้กระทำพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะใช้หรือมีวิทยฐานะ หรือตำแหน่งดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 28 ตรี ผู้ใด
           (1) ปลอมหรือเลียนแบบซึ่งเครื่องแบบ เครื่องแต่งกาย เข็มวิทยฐานะ ตรา เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของสถาบัน ไม่ว่าจะกระทำเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใดๆ
           (2) ใช้สิ่งที่ปลอมหรือทำเลียนแบบตาม (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) เป็นผู้กระทำความผิดตาม (2) ด้วยให้ลงโทษกระทงเดียว

(*หมวด 5ทวิ มาตรา 28 ทวิ, และมาตรา 28 ตรี  ถูกเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่ง พรบ. สถาบันพระปกเกล้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 (พระราชกิจจานุเบกษาเล่ม 117 ตอนที่ 111 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543) ) 
(*หมวด 5ทวิ มาตรา 28 ทวิ, และมาตรา 28 ตรี  ถูกเพิ่มเติมโดยมาตรา 9 แห่ง พรบ. สถาบันพระปกเกล้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 (พระราชกิจจานุเบกษาเล่ม 117 ตอนที่ 111 ก วันที่ 29 พฤศจิกายน 2543) ) 

มาตรา 29 ให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิหนี้ รวมทั้งงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของสถาบันพระปกเกล้า และพิพิธภัณฑ์รัฐสภาในส่วนที่เกี่ยวกับ        พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปเป็นของสถาบัน

มาตรา 30 ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ถ้าสมัครใจจะโอนไปปฏิบัติงานเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันและได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนข้าราชการหรือลูกจ้างผู้นั้นไปเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของสถาบัน ทั้งนี้ ตามที่ประธานรัฐสภาและสถาบันจะได้ตกลงกัน ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างที่โอนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันแล้วแต่กรณี ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่างๆ เท่ากับที่เคยได้รับอยู่เดิม ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในสถาบัน แต่จะแต่งตั้งให้ ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างต่ำกว่าเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ได้รับอยู่เดิมไม่ได้ ส่วนเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับต่อไปนั้นให้เป็นไป ตามข้อบังคับของสภาสถาบัน ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจ

มาตรา 31 การโอนข้าราชการตามมาตรา 30 ให้ถือว่าเป็นการออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่ง และให้ได้รับบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี
         การโอนลูกจ้างตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นการออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง
         เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาการทำงานสำหรับคำนวณบำเหน็จหรือบำนาญตามข้อบังคับของสถาบัน ข้าราชการหรือลูกจ้างผู้ใดที่โอนไปตามมาตรา 30 ประสงค์จะให้นับเวลาราชการหรือเวลาทางานในขณะที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างก่อนที่มีการโอนเป็นเวลาทำงานของพนักงานหรือลูกจ้างของสถาบันแล้วแต่กรณี ก็ให้มีสิทธิกระทาได้โดยแสดงความจำนงว่าไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญ
         การไม่ขอรับบำเหน็จหรือบำนาญตามวรรคสาม จะต้องกระทำภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่โอน สำหรับกรณีของข้าราชการให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับกรณีของลูกจ้างให้กระทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อเป็นหลักฐานยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรหรือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแล้วแต่กรณีไปให้กระทรวงการคลังทราบ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรจัดตั้งสถาบันพระปกเกล้าขึ้นเป็นสถาบันทางวิชาการ ในกากับรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้านการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปสู่ประชาชน รวมทั้งเพื่อการศึกษาค้นคว้า และวิจัยปัญหาและแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างมีระบบ เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเป็นปึกแผ่นและยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 


Share :

สถาบันพระปกเกล้า