ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ การลงนามบันทึกแสดงเจตจำนงโครงการ “Stop Online Child Sexual Abuse” ภายใต้แนวคิดหลัก “การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย”


          เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม 2566 เวลา 11.30 น. ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ วังจันทร์เกษม นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในฐานะผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, Ms. Starla Sanchez Assistant Attaché สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกา (the US HSI), ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัชด ชมภูนิช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักศึกษากลุ่มสิงโต หลักสูตร ปนป.12 สถาบันพระปกเกล้า ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงในโครงการ “Stop Online Child Sexual Abuse” ภายใต้แนวคิดหลัก “การลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย”

          ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินขึ้นโดยความร่วมมือขององค์กรภาคี คือ นักศึกษากลุ่มสิงโต หลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 12 (ปนป.12)  สถาบันพระปกเกล้า  กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) EducationUSA Thailand บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (CPF) องค์กร Operation Underground Railroad (O.U.R.) และสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย 

          โดยโครงการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้มีหลักสูตรเสริมเพื่อสร้างความตระหนักรู้และวิธีการป้องกันภัยจากอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ซึ่งในปัจจุบันเป็นภัยคุกคามสำคัญของเด็กและเยาวชนไทย เช่น การหลอกลวงให้ถ่ายคลิปหรือสตรีมมิ่งร่างกายโป๊เปลือย แล้วนำไปข่มขู่แบล็คเมล์ หรือบังคับให้เข้าสู่วงจรค้ามนุษย์ เป็นต้น 

          ทั้งนี้ นักศึกษากลุ่มสิงโต ปนป.12 ได้ส่งมอบสื่อชุด #NoGoTell: Stop Online Child Sexual Abuse เรื่อง “เคสสุดท้าย” ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และกรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดกิจกรรมหรือประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางเพศออนไลน์ และวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยบอกเล่าผ่านน้ำเสียงของคุณแม่ ซึ่งสูญเสียลูกชายที่เป็นทั้งความหวังและความรักไปก่อนเวลาอันควร เนื่องจากถูกหลอกลวงจากคนแปลกหน้าผ่านสื่อโซเชียลมิเดียให้ถ่ายคลิปทางเพศ และถูกแบลค์เมล์จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด 

          โดยกระทรวงศึกษาธิการ และกรมกิจการเด็กและเยาวชน จะได้นำสื่อชุดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างสันติสุขในสังคมต่อไป (สามารถรับชมสื่อดังกล่าวผ่านทาง KPI Channel ที่ https://youtu.be/_2tMHIGve9k )

          นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่า การแก้ไขจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ภายใต้โครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย เป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ นับแต่การจัดตั้งโครงการความปลอดภัยสถานศึกษาหรือ MOE Safety Center เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขและจัดการปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างสุ่มเสี่ยง ไม่มีภูมิคุ้มกัน อันอาจนำไปสู่การตกเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ การจัดทำหลักสูตรอบรมให้แก่เด็กและเยาวชน และการจัดทำสื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงภัยอันตราย ตลอดจนความรู้เมื่อตกเป็นผู้เสียหายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงเป็นช่องทางที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับช่วยเหลือเด็กและเยาวชนไม่ให้ถูกละเมิดทางเพศนับแต่ต้นเหตุ

          นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ในฐานะผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่ได้นิ่งเฉยต่อปัญหาเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบการคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยบนโลกออนไลน์อย่างแท้จริง 

          อีกทั้งการจัดตั้งศูนย์ COPAT เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาระบบคุ้มครอง และสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างครอบคลุม

          Ms. Starla Sanchez สำนักงานการสืบสวนเพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (HSI) กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสังคม แต่สำหรับเด็กและเยาวชนแล้วอาจจะเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ คือ อาจสุ่มเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะตกเป็นผู้เสียหายผ่านทางการหลอกลวงในโลกอินเตอร์เน็ต ดังนั้น การที่วันนี้ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันแสดงเจตจำนงในการป้องกันภัยอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ในเด็กและเยาวชนจึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก และขอขอบคุณที่ให้โอกาสสหรัฐอเมริกาในการร่วมงานกับทุกหน่วยงานในโครงการดังกล่าวนี้ และโครงการต่อ ๆ ไป

          ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในนามของสถาบันพระปกเกล้า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่โครงการ “Stop Online Child Sexual Abuse” ดังกล่าวนี้ ซึ่งมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รัชด ชมภูนิช และ ดร. เภสัชกรหญิง อภิชยาภรณ์ ชุณหเวชสกุล ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษา ได้มีโอกาสเป็นโครงการที่เป็นตัวอย่างในการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ตลอดจนองค์กรภาคีเครือข่ายในการร่วมกันดำเนินกิจกรรมป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชนออนไลน์ ผ่านสื่อ hashtag #NoGoTell แม้อาจเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงชุดความรู้ และสร้างสังคมสันติสุขให้แก่อนาคตของชาติ ต่อไป อีกทั้งยังเป็นการยืนยันว่า หลักสูตร ผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย หรือ ปนป. เป็นหลักสูตรที่ศึกษาไปเพื่อสังคมอย่างแท้จริง สมดังเจตนารมณ์ของสถาบันพระปกเกล้า


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า