ภาพกิจกรรม

หน้าแรก | ข่าวสาร

สัมมนาออนไลน์ Democracy Talk Series ปรากฏการณ์ในโลกประชาธิปไตย ครั้งที่ 10


         เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง จัดงานสัมมนาออนไลน์ Democracy Talk Series ปรากฏการณ์ในโลกประชาธิปไตย ครั้งที่ 10 หัวข้อ "เอสโตเนีย: พลเมืองดิจิทัล และความโปร่งใสของการบริหารงานภาครัฐ" โดยมีวิทยากรร่วมอภิปราย ได้แก่ อาจารย์วศิน ปั้นทอง (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ อาจารย์ ดร. จารุพล เรืองสุวรรณ (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ดำเนินการอภิปราย โดย นายปุรวิชญ์ วัฒนสุข นักวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีอายุเพียง 30 ปี หลังจากประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 ในปัจจุบันเอสโตเนียเป็นประเทศชั้นนำด้านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานภาครัฐ การจัดบริการสาธารณะและบริการเสียภาษีกว่า 99% ใช้ระบบออนไลน์ ประชากรมากกว่า 91% สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ หมุดหมายของการสร้าง E-Estonia นั้นเริ่มตั้งแต่ในปี 1994 ที่มีการประกาศแนวทางของเอสโตเนียพัฒนาไปสู่สังคมข้อมูลข่าวสาร ต่มาในปี 1997 มีการขยายอินเตอร์เน็ตไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ และในช่วงปี 2005 และ 2007 เริ่มมีการพัฒนาไปสู่การลงคะแนนเลือกตั้งผ่านอินเตอรเน็ต (I-Voting) และในปี 2014 มีการออกสิทธิพำนักถาวรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Residency) เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ

       นอกจากนี้ เมื่อเอสโตเนียได้เป็นประธานสหภาพยุโรปในปี 2017 ก็ได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายทำให้เป็นดิจิทัล (Digitalisation) ในระดับนานาชาติ และการขับเคลื่อนนโยบายนี้เองที่เป็นทำให้เอสโตเนียซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ มีบทบาทอย่างโดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศได้ ความสำเร็จของการเปลี่ยนประเทศด้วยดิจิทัลของเอสโตเนีย เกิดทั้งจากปัจจัยทางเทคนิด คือ การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และปัจจัยที่ไม่ใช่ทางเทคนิด ได้แก่ การออกนโยบาย ระเบียบกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการพัฒนา และความเป็นผู้นำ เมื่อวิเคราะห์ในทางการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล  เกิดจาก 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การมีวิสัยทัศน์ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน, การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต, ความไว้วางใจที่มีต่อรัฐ, กฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีดำเนินงานภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ, วิธีคิดของรัฐที่กระจายอำนาจไปสู่ประชาชน, และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การสัมมนาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของโครงการสัมมนาวิชาการออนไลน์ Democracy Talk Series ปรากฏการณ์ในโลกประชาธิปไตย ที่ได้ดำเนินการจัดโดยวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ทั้งหมด 10 ครั้ง ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.30-15.00 น. นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อเป็นเวทีอภิปรายสาธารณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในโลก ผ่านกรณีศึกษา 10 ประเทศ ได้แก่ พม่า, อินเดีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, ประเทศประชาธิปไตยใหม่, เกาหลีใต้, ชิลี, สหรัฐอเมริกา, และเอสโตเนีย


Share :

กลับไปหน้าหลัก

สถาบันพระปกเกล้า